โรคไข้เลือดออก ภัยจากยุงลาย

โรคติดต่อที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (Dengue Virus) โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งมี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4 ซึ่งเป็นโรคที่ต้องระวังในช่วงหน้าฝน เนื่องจากการเพิ่มจำนวนของยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรค ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว

โรคไข้เลือดออกแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่

ระยะไข้ (2-7 วัน)

ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเฉียบพลันตลอดเวลา ปวดศีรษะ ปวดกระบอกตา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก ไม่มีน้ำมูกหรือไอ มีจุดเลือดเล็กบริเวณแขน ขา ลำตัว รักแร้ อาจเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระสีดำร่วมด้วย

ระยะวิกฤติ (24-48 ชั่วโมง)

ระยะนี้ไข้ที่สูงจะเริ่มลดลง แต่อาการจะทรงตัว ถ้าไม่มีภาวะแทรกซ้อนอาการจะเริ่มดีขึ้น แต่ถ้ามีภาวะแทรกซ้อนอาการจะแย่ลง อาจมือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาลง ความดันต่ำ เลือดออกง่าย อาเจียนเป็นเลือดฯลฯ อาจร้ายแรงถึงขั้นช็อกจนเสียชีวิต ดังนั้นหากมีไข้สูงติดต่อกันเกิน 2 วันแล้วอาการยังแย่ลง แนะนำให้รีบพบแพทย์ทันที

ระยะฟื้นตัว (หลังไข้ลด 24-48 ชั่วโมง)

เมื่ออาการพ้นระยะวิกฤติและเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยจะกลับมามีความดันปกติ ชีพจรเต้นตามปกติ รับประทานอาหารได้มากขึ้น แต่อาจมีผื่นแดง คัน และจุดเลือดเล็กตามลำตัว ซึ่งจะค่อย ๆ หายไปเอง

แนวทางการรักษาไข้เลือดออก

การรักษาโรคไข้เลือดออกไม่มียารักษา แต่เป็นการรักษาตามอาการและความรุนแรง หากสังเกตได้เร็ว รู้เร็ว ดูแลตัวเองได้เร็ว ย่อมช่วยให้หายได้ในเวลาไม่นาน และป้องกันอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต

วิธีป้องกันไข้เลือดออก

การป้องกันโรคไข้เลือดออกสามารถทำได้โดยป้องกันไม่ให้ยุงกัด สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ทาโลชั่นหรือพ่นสเปรย์กันยุง เก็บของให้เป็นระเบียบ กำจัดแหล่งพาหะ ภาชนะเก็บน้ำมีฝาปิดเสมอ เปลี่ยนน้ำในแจกันหรือกระถางทุก ๆ 7 วัน และฉีดวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกตามคำแนะนำของแพทย์

กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นไข้เลือดออกแล้วอาการรุนแรง

คนทุกเพศทุกวัยสามารถเป็นไข้เลือดออกได้ แต่กลุ่มเสี่ยงที่เมื่อเป็นแล้วอาการจะรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่น ได้แก่ ผู้สูงอายุ เพราะภูมิต้านทานต่ำและมีโรคประจำตัวหลายโรค ผู้ที่เป็นโรคอ้วน และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน หัวใจ ความดันโลหิตสูง ธาลัสซีเมีย เป็นต้น