โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ สังเกตุก่อนป้องกันได้

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก พบบ่อยเป็นอันดับที่ 3 ของคนไทย ผู้ป่วยส่วนใหญ่กว่าจะรู้ว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่เมื่อมีอาการขับถ่ายผิดปกติ เช่น ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด ถ่ายมีมูกเลือด ท้องผูก ปวดเบ่งถ่ายตลอดเวลา อุจจาระลำเล็กลง ก็มักพบโรคในระยะที่เป็นมากแล้ว ซึ่งทำให้มีโอกาสการเสียชีวิตสูง การตรวจคัดกรองเพื่อป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ (การตรวจคัดกรอง คือการตรวจตั้งแต่ผู้ป่วยไม่มีอาการผิดปกติใดๆ) หรือการมาพบแพทย์ทันทีตั้งแต่มีอาการผิดปกติในระยะเริ่มแรกเป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะสำหรับโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้ว ถ้ารู้เร็ว รักษาเร็วและถูกวิธีก็จะมีโอกาสหายมากขึ้น

มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมักพบมากในผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ก็สามารถเกิดได้ในทุกเพศทุกวัย อายุเฉลี่ยของคนไทยที่ตรวจพบมะเร็งชนิดนี้อยู่ในช่วงอายุ 60-65 ปี ผู้ที่มีประวัติบุคคลในครอบครัวป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักจะมีโอกาสเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป โดยเฉพาะบุคคลในครอบครัวนั้นเป็นญาติสายตรงลำดับแรก ได้แก่ พ่อแม่ พี่น้องและบุตร

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ แต่เชื่อว่าการรับประทานอาหารที่มีใยอาหารมาก ทานอาหารที่มีไขมันน้อย ร่วมกับการออกกำลังกายสม่ำเสอ และการป้องกันภาวะท้องผูกจะลดโอกาสการเกิดมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

สำหรับการตรวจพบแต่เนิ่น ๆ ต้องทำตั้งแต่ยังไม่มีอาการผิดปกติ เรียกการตรวจนี้ว่า “การตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่” ซึ่งแนะนำให้เริ่มตรวจคัดกรองในผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป และมีหลายวิธี เช่น การตรวจเม็ดเลือดแดงในอุจจาระทุก 1-2 ปี, การสวนสารทึบรังสีตรวจลำไส้ใหญ่ หรือการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทุก 5 ปี เป็นต้น