วันมะเร็งโลก

World Cancer Day

มะเร็ง คร่าชีวิตคนทั่วโลกสูงสุดอันดับ 1 หรือคิดเป็นร้อยละ 16 ของต้นเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด สูงกว่าอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุและสาเหตุอื่นๆ มากกว่า 2-3 เท่า “วันมะเร็งโลก” จะตรงกับวันที่ 4 กุมภาพันธ์ของทุกปี คลินิกเทคนิคการแพทย์ ยูแล็บขอพาทุกคนมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับมะเร็งกัน ว่าเหมือนหรือต่างจากเนื้องอกอย่างไร

ปัจจัยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น พันธุกรรม

ปัจจัยที่หลีกเลี่ยงได้ เช่น จากพฤติกรรมในการใช้ชีวิต

  1. ทานอาหารสุกๆ ดิบๆ
  2. ทานอาหารที่มีปริมาณไขมันมากเกินไป
  3. สูบบุหรี่ หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยควันบุหรี่ เช่น เพื่อนๆ สูบ
  4. ทานอาหารที่ขึ้นรา หรือเน่าเสีย
  5. รับแสงแดดที่แรงมากเกินไป โดยเฉพาะเวลา 9.00-17.00 น.
  6. ที่อยู่อาศัยอยู่ในแหล่งมลพิษทางอากาศ เช่น ใกล้ถนนใหญ่ใจกลางเมืองกรุงเทพ
  7. ทานอาหารดอง อาหารแปรรูป เช่นผักดอง ปูเค็ม
  8. ทานอาหารไหม้เกรียม เช่น เนื้อย่าง กุ้งเผา
  9. ใช้ยาคุมกำเนิด (ทั้งชนิดทานและฉีด) ติดต่อกันมากกว่า 5 ปี
  10. ทานอาหารที่ไม่สะอาด ปนเปื้อนสารเคมี
  11. เคยมีอาการติดเชื้ออย่างเรื้อรัง
  12. น้ำหนักเกินมาตรฐาน

ผู้หญิง

จะพบมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด และมะเร็งรังไข่ มากที่สุด

ผู้ชาย

จะพบมะเร็งปอด มะเร็งต่อมลูกหมากมะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มากที่สุด

รู้ก่อนรักษาก่อน

ความซับซ้อนของโรคมะเร็ง ทำให้แม้เราจะใส่ใจดูแลสุขภาพเต็มที่ โอกาสที่จะเผชิญกับโรคดังกล่าวก็จะเพิ่มขึ้นตามวัยอยู่ดี และเนื่องจากโรคมะเร็งก็เหมือนโรคอื่น ๆ ที่ยิ่งรู้เร็วก็ยิ่งรักษาง่าย จึงมีการพัฒนาวิธีตรวจคัดกรองสำหรับมะเร็งที่พบได้บ่อยขึ้นมา การตรวจเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก ทั้งยังมีใช้การอย่างแพร่หลาย เพียงแต่มีการกำหนดให้เหมาะกับช่วงวัยยกตัวอย่างเช่น

  • การทำแมมโมแกรม (mammogram) เพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านม แนะนำให้ตรวจในสตรีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป (หรือเร็วกว่านั้น หากมีประวัติในครอบครัว) และตรวจทุกปีเมื่ออายุ 45 ปีขึ้นไป
  • การเอกซ์เรย์ปอด เพื่อคัดกรองมะเร็งปอด แนะนำเป็นส่วนหนึ่งของการตรวจร่างกายประจำปี เนื่องจากคัดกรองวัณโรคปอดได้ด้วย
  • การตรวจแปปสเมียร์และเชื้อไวรัส HPV เพื่อคัดกรองมะเร็งปากมดลูก แนะนำให้ตรวจทุกห้าปีในสตรีที่มีอายุ 30 – 65 ปี
  • การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (colonoscopy) เพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก แนะนำให้ตรวจทั้งในหญิงและชายตั้งแต่อายุ 45 ปีขึ้นไป
  • การเจาะเลือดวัดค่า PSA เพื่อคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก แนะนำให้เริ่มพิจารณาตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป

 นอกจากนี้ เราก็ยังควรสังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างกายตนเองให้ดี หากพบสิ่งผิดปกติ ไม่ว่าจะคลำพบก้อน พบไฝหรือขี้แมลงวันที่โตผิดปกติ หรือการขับถ่ายต่างไปจากเดิม ก็ต้องพบแพทย์โดยเร็ว